องค์กรแรงงานต่างๆเรียกร้องให้ไทยดำเนินการตามสัญญาที่จะยุติการใช้แรงงานบังคับในเรือนจำ

06/29/22

Author: 

GLJ-ILRF and Seafood Working Group

สำหรับเผยแพร่ทันที

ติดต่อ: Eliza Bates elizamargarita [at] gmail.com (subject: SWG%20Statement%20on%20Thai%20Prison%20Forced%20Labor) (เอลิซา เบทส์) 

กรุงเทพ, ประเทศไทย - Global Labor Justice-International Labor Rights Forum (GLJ-ILRF) และองค์กรอื่นๆในคณะทำงานด้านอาหารทะเล (Seafood Working Group, SWG) กล่าวในวันนี้ว่า พวกเขายินดีที่ได้เห็นความมุ่งมั่นล่าสุดของกรมราชทัณฑ์ไทยในการยุติการใช้แรงงานบังคับ และหยุดการผลิตแหอวนในเรือนจำ และออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการตามและสนับสนุนยืนหยัดในสิทธิแรงงาน

“กรมราชทัณฑ์อาจจะทำตามที่สัญญา แต่สื่อและองค์กรเอ็นจีโอต่างๆควรยังต้องส่งเสียงกดดันต่อไป เพราะรัฐบาลมักไม่รู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในเรือนจำ ไม่มีใครเข้าไปตรวจเช็ค  การผลิตแหอวนเป็นงานที่สร้างกำไรมากที่สุดให้กับเรือนจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้กับผู้คุม อาจจะมีการติดสินบนเจ้าหน้าที่เพื่อให้มีการทำงานผลิตแหอวนต่อไป จึงต้องมีการเฝ้าตรวจสอบงานที่ทำในเรือนจำ” คุณปุ้ย* อดีตนักโทษเรือนจำสงขลากล่าว

GLJ-ILRFและกลุ่มอื่นๆในกลุ่ม SWG ได้แสดงความกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลไทย รวมถึงการใช้แรงงานบังคับในหมู่นักโทษเรือนจำในการผลิตแหอวนสำหรับสินค้าส่งออกต่างประเทศ รวมถึงความกังวลอื่นๆ ในระยะยาวเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานข้ามชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลและประมงพาณิชย์โดยในเดือนมีนาคม 2565 รัฐบาลไทยได้ประกาศว่าจะยุติการใช้แรงงานบังคับในเรือนจำ ตามข้อร้องเรียนที่กลุ่มภาคีเครือข่ายระหว่างประเทศได้ยื่นให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ร่วมไปกับแรงกดดันจากสื่อ

การสื่อสารกับสาธารณะตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมเป็นต้นมา ทำให้กรมราชทัณฑ์ได้ออกคำสั่งให้มีการปฏิรูปการใช้แรงงานนักโทษ

โดยให้มีการแต่งตั้งที่ปรึกษาและคณะกรรมการปฏิรูประบบการทำงานของผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งจะทำหน้าที่ประเมินระบบการใช้แรงงานในเรือนจำ ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (“ข้อกำหนดแมนเดลา”) และ เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยและอาชีวอนามัย แรงงาน และรวมถึงค่าจ้าง คณะกรรมการชุดใหม่นี้จะจัดตั้งขึ้นในเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ โดยจะทำหน้าที่เป็นผู้กำหนดค่าตอบแทนของนักโทษสำหรับงานแต่ละประเภท ตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัดนั้นๆและ ปัจจัยอื่นๆ  

บทความล่าสุดที่เผยแพร่ในบีบีซี ประเทศไทย และ รอยเตอร์ รัฐบาลกล่าวว่า ได้มีการออกประกาศในวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ไปยังเรือนจำและทัณฑสถานทั้งหมด 25 แห่ง ที่ได้เซ็นสัญญารับจ้างผลิตแหอวน และได้สั่งให้เลิก หรือไม่ต่อสัญญาดังกล่าว ที่จะสิ้นสุดภายในเดือนกันยายน 2565 กรมราชทัณฑ์มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงแนวปฏิบัติต่อนักโทษให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล อันรวมถึง ข้อกำหนดแมนเดลา และข้อกําหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง เพื่อที่งานเหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการจ้างงานของผูเต้องขังหลังจากได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในอนาคต นักโทษที่เคยทำงานผลิตแหอวนจะเข้าสู่กระบวนการจําแนกลักษณะผู้ต้องขัง โดยคณะกรรมการนักวิชาชีพของทัณฑสถาน เพื่อจัดสรรการฝึกวิชาชีพหรืองานให้กับผู้ต้องขัง นอกเหนือจากนี้ บางเรือนจำยังได้ประกาศนโยบายต่างๆเพื่อเพิ่มค่าตอบแทนให้กับงานบางประเภท รวมถึงการผลิตแหอวน

“คุกที่ฉันเคยอยู่ ที่ที่พี่ชายของฉันยังถูกคุมขังอยู่ เพิ่งประกาศว่าจะหยุดการผลิตแหอวน นี่เป็นเรื่องที่ดีเพราะงานประเภทนี้ยากเกินไป มันทำให้นักโทษเหนื่อยและมักจะโดนขู่จากเจ้าหน้าที่เรือนจำถ้าทำไม่ทันตามโควตา ถ้าไม่มีการผลิตแหอวนอีกต่อไป ชีวิตนักโทษเรือนจำก็จะดีขึ้นมาก และการเพิ่มเงินเพียง 10 บาทต่อหน่วยให้กับนักโทษที่ยังทำงานถักแหอวนอยู่นั้น [จนกว่าสัญญาจะสิ้นสุด] ยังนับว่าน้อยเกินไป” คุณปุ้ย* อดีตนักโทษเรือนจำสงขลากล่าว

SWG ได้เรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์เผยแพร่รายละเอียดเกี่ยวกับการปฏิรูปการใช้แรงงานในเรือนจำล่าสุดต่อสาธารณะ และปล่อยรายงานข้อค้นพบและข้อเสนอแนะ จากที่ปรึกษาและคณะกรรมการปฏิรูประบบการทำงานของผู้ต้องขังในเรือนจำ ทางกรม ฯควรมีหน่วยตรวจประเมินอิสระที่สามารถเข้าเรือนจำได้ทุกแห่งเพื่อเพิ่มความโปร่งใสและภาระรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้  SWGยังได้เรียกร้องในประเด็นค่าแรงของนักโทษให้เป็นไปตามกฎกระทรวงการคำนวณรายได้เป็นราคาเงินและการจ่ายเงินรางวัลให้แก่ผู้ต้องขังซึ่งการงานที่ได้ทำนั้นก่อให้เกิดรายได้ซึ่งคำนวณเป็นราคาเงินได้ พ.ศ. 2563 และเงินชดเชยสำหรับนักโทษที่ถูกแสวงประโยชน์โดยมิชอบในการผลิตแหอวนที่ผ่านมา

ทางกลุ่มกล่าวว่ารัฐบาลไทยต้องแสดงภาระรับผิดชอบกับบริษัทไทยที่หาผลประโยชน์จากแรงงานบังคับโดยดำเนินคดีกับบริษัทที่ละเมิดพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และออกกฎหมายที่ให้บริษัทมีหน้าที่ต้องจัดทำการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนรอบด้านในห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ กลุ่ม SWG ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่จะรับรองสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วมของแรงงานข้ามชาติเพื่อที่พวกเขาจะสามารถรวมตัวกันปกป้องสิทธิของตนเองได้

"กรณีนี้แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไทยต้องเอาจริงในการตรวจสอบและเอาผิดบริษัทไทยที่แสวงหากำไรจากการบังคับใช้แรงงานในห่วงโซ่อุปทาน" เจเจ โรเซนบอม ผู้อำนวยการของ Global Labor Justice-International Labor Rights Forum (GLJ-ILRF) กล่าว

GLJ-ILRF และ พันธมิตรกลุ่ม SWG ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาใช้รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2565 (Trafficking in Persons Report: TIP Report) เพื่อคงแรงกดดันต่อรัฐบาลไทยในการยุติการละเมิดต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล โดยคาดว่ารายงานจะถูกปล่อยออกมาในช่วงฤดูร้อนที่จะถึงนี้

 

*ชื่อทั้งหมดได้ถูกแทนที่ด้วยนามแฝงเพื่อความปลอดภัยของบุคคลผู้ให้สัมภาษณ์

 

บีบีซี ไทย: กรมราชทัณฑ์สั่งยกเลิกงานอวน หลังมีข่าวนักโทษถูกบังคับใช้แรงงาน (ฉบับแปลภาษาอังกฤษ)

GLJ-ILRF เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อสาธารณะประโยชน์ ที่ทำงานอุทิศเพื่อบรรลุเกียรติศักดิ์ศรีและความยุติธรรมสำหรับแรงงานทั่วโลก GLJ-ILRF มุ่งเสริมสร้างรับรองบังคับใช้สิทธิแรงงานและสนับสนุนสภาพการทำงานที่มีคุณค่า ตามแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด และมาตรฐานแรงงานของไอแอลโอในภาคแรงงานค่าจ้างต่ำในห่วงโซ่อุปทานโลก เช่น การประมงพาณิชย์ GLJ-ILRF ยังมีส่วนร่วมในงานวิจัย งานเชิงนโยบาย รณรงค์สนับสนุน และการให้ความรู้กับสาธารณะและผู้บริโภค

คณะทำงานด้านอาหารทะเล (SWG) นำโดย  GLJ-ILRF เป็นภาคีเครือข่ายโลกขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แรงงาน และสิ่งแวดล้อม ที่ทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาและรณรงค์สนับสนุนนโยบายรัฐ และการดำเนินการจากภาคอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพเพื่อยุติปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานบังคับ การทำประมงผิดกฎหมาย และเกินขนาดในการค้าอาหารทะเลระหว่างประเทศ

Issues: 

Industries: 

Strategies: 

Countries: